1

วันที่ 24 มิถุนายน 2567 นายสุนทร รัตนจำรูญ ปศุสัตว์จังหวัดนครนายก มอบหมายให้ นายสัตวแพทย์บุญกัน เขตแวงควง หัวหน้ากลุ่มพัฒนาคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ นางสาวอภิญญา อินทิยโกเศศ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ ฟาร์มเป้าหมายจำนวน 4 ฟาร์ม ดังนี้

๑. เกรียงวิภาฟาร์ม

๒. บริษัทอภิศักดิ์ฟาร์มบ้านนาจำกัด สาขา ๑

๓. ฟาร์มสุกรพันธุ์หนองเบิบ

๔. ฟาร์มนครนายก

เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการรักษาเสถียรภาพราคาสุกรโดยการตัดวงจรลูกสุกรทำหมูหัน ปี 2567 เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินมาตรการตัดวงจรลูกหมูออกจากระบบ เพื่อแก้ปัญหาราคาหมูตกต่ำ ช่วยเหลือผู้เลี้ยง โดยได้อนุมัติวงเงินงบประมาณ 30 ล้านบาท ให้กรมปศุสัตว์จ่ายชดเชยให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงลูกหมูตัวละ 400 บาท มีเป้าหมายนำลูกหมูออกจากระบบ 75,000 ตัว ระยะเวลา 3 เดือน ในเดือน พ.ค.-ก.ค. เพื่อช่วยลดจำนวนหมูส่วนเกิน ให้มีความสมดุลระหว่างผลผลิตและความต้องการบริโภค ที่จะมีผลช่วยดึงราคาให้สูงขึ้นในระยะยาว

ทั้งนี้ ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูประสบปัญหาขาดทุนจากการเลี้ยงอย่างมาก มีต้นทุนการเลี้ยงอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 71-79 บาท แต่กลับขายหมูเป็นหน้าฟาร์มได้เพียง กก.ละ 70-72 บาท เนื่องจากมีปริมาณสุกรในตลาดมากเกินไป โดยมีผลผลิตส่วนเกินวันละ 6,000-7,000 ตัว และมีเนื้อหมูที่ลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศมาวางขายในท้องตลาดในราคาถูกอีก จึงฉุดให้ราคาหมูของไทยลดลง มาตรการนี้จะช่วยดึงหมูส่วนเกินออกจากระบบ เพื่อนำไปทำหมูหัน ช่วยดึงให้ราคาหมูปรับขึ้นหรือจนกว่าจะเข้าสู่จุดคุ้มทุน